ชิปเซตถือเป็นหัวใจสำคัญของสมาร์ทโฟนก็ว่าได้ ซึ่งชิปเซตก็จะถูกแยกออกมาหลากหลายแบรนด์เลยทีเดียว อย่างฝั่ง Android ก็จะมีทั้ง Qualcomm , MediaTek , Exynos , Unisoc , Kirin ส่วนทางฝั่ง iOS ก็จะเป็น Apple Bionic วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับชิปเซตเหล่านี้กัน แบรนด์ไหนมีชิปเซตซีรีส์อะไรบ้าง และรุ่นท็อปสุดของแต่ละแบรนด์คือรุ่นไหน ถ้าพร้อมแล้ว ไปชมพร้อมๆกันเลยครับ

1. Apple Bionic
ประวัติบริษัท
- บริษัท Apple ได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดย Steven Wozniak, Steven Jobs และ Ronald Wayne มีจุดประสงค์เพื่อจำหน่ายคอมพิวเตอร์ระบบส่วนบุคคล โดยคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่วางจำหน่าย คือ Apple I แต่ผลประกอบการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จนมาถึง Apple II กลับได้รับความนิยมพร้อมทั้งสร้างกำไรให้กับบริษัทอย่างมาก
- ถัดมาในปี 2007 ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการโทรศัพท์หลังจากที่ Apple เปิดตัว iPhone มาพร้อมหน้าจอสัมผัสอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้กระแสสมาร์ทโฟนเริ่มเติบโตขึ้น พร้อมกันนี้ iPhone ยังกลายเป็นต้นแบบของโทรศัพท์รุ่นใหม่ และมากับชิปเซตของตัวเองอีกด้วย
ข้อมูลชิปเซตและการจำแนกชื่อรุ่น
- ชิปเซตที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Apple เองเลย ซึ่งความแรงและความเสถียร ยังไงก็ต้องยกให้เค้าเป็นอันดับหนึ่งแน่นอนอยู่แล้ว ถึงแม้ราคาของ iPhone จะสูงก็ตาม
- ในด้านรุ่นของชิปเซตนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพราะไม่ได้มีซีรีส์แยก ไล่ไปตั้งแต่ Apple A11 Bionic , A12 , A13 , ….. , มาถึงรุ่นปัจจุบันนั่นก็คือ Apple A15 Bionic
- ส่วนรุ่นที่รองรับคลื่น 5G จะเริ่มตั้งแต่ Apple A14 Bionic เป็นต้นไป ซึ่งถูกใช้ใน iPhone 12 Series และรุ่นที่ใหม่ขั้นไปกว่านี้ ก็น่าจะรองรับ 5G ทั้งหมดแล้วแน่นอน

2. Qualcomm
ประวัติบริษัท
-
Qualcomm ก่อตั้งขึ้นในปี 1985 โดย Irwin M. Jacobsและผู้ร่วมก่อตั้งอีกหกคน การวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือไร้สาย CDMA ได้รับทุนจากการขายระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมดิจิทัลแบบเคลื่อนที่สองทางที่เรียกว่า Omnitracs หลังจากการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในอุตสาหกรรมไร้สาย มาตรฐาน 2G ก็ถูกนำมาใช้ร่วมกับสิทธิบัตร CDMA ของ Qualcomm หลังจากนั้นก็มีข้อพิพาททางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดราคาสำหรับสิทธิบัตรลิขสิทธิ์ที่กำหนดโดยมาตรฐาน
-
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Qualcomm ได้ขยายไปสู่การขายผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ในรูปแบบการผลิตที่ไม่ธรรมดา นอกจากนี้ยังพัฒนาส่วนประกอบหรือซอฟต์แวร์เซมิคอนดักเตอร์สำหรับรถยนต์ นาฬิกา แล็ปท็อป Wi-Fi สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่นๆ
ข้อมูลชิปเซตและการจำแนกชื่อรุ่น
- ชิปเซตของ Qualcomm จะมีชื่อที่คุ้นหูกันดีว่า Snapdragon ซึ่งเป็นชิปเซตที่ได้รับความนิยม และได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจในการใช้งานมากที่สุด ของฝั่ง Android เลยก็ว่าได้
- ในด้านรุ่นของชิปเซตจะไล่ไปตั้งแต่ Snapdragon 400 Series (ระดับเริ่มต้น) , 600 Series(ระดับกลาง) , 700 Series(ระดับรองท็อป) และ 800 Series(ระดับท็อป) ยิ่งเลขหน้าเยอะ ประสิทธิภาพก็จะเยอะตามไปนั่นเองนะ ส่วนรุ่นท็อปสุดของค่ายในปัจจุบันจะเป็น Qualcomm Snapdragon 888+ และในปีหน้าเราจะได้เห็นรุ่นท็อปตัวใหม่ที่มีชื่อว่า Snapdragon 898 แน่นอน
- ในปัจจุบัน ชิปเซต Snapdragon ที่รองรับ 4G นั้นถูกเลือกใช้งานน้อยลงเป็นอย่างมาก โดยรุ่นที่ยังใช้อยู่ ส่วนใหญ่จะมีราคาไม่แพงแล้ว ซึ่งเราอาจยังได้เห็น Snapdragon 460, Snapdragon 678/680 , Snapdragon 730 และ Snapdragon 860 อยู่บ้าง แต่ก็น่าจะบางตาไปเรื่อยๆ ด้วยการแทนที่ของชิปเซต 5G อย่างแน่นอน อาทิ Snapdragon 480+ 5G , Snapdragon 695 5G , Snapdragon 778 5G และ Snapdragon 888 เป็นต้น

3. MediaTek
ประวัติบริษัท
- MediaTek ก่อตั้งเมื่อปี 1997 ทำธุรกิจออกแบบ และจัดจำหน่ายชิปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดย MediaTek เป็นบริษัทลูกของ UMC (United Microelectronics Corporation) หนึ่งในบริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่ในไต้หวันเดิมที MediaTek มีหน้าที่หลักคือรับออกแบบชิป และให้บริษัทแม่อย่าง UMC เป็นผู้ผลิตชิปที่ออกแบบ โดยเริ่มจากการผลิตชิปควบคุมการทำ
- ถัดมาในปี 2017 MediaTek เริ่มเข้าสู่ธุรกิจผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟน โดยเริ่มที่ชิปตระกูล Helio เพื่อมาเจาะตลาดชิปสำหรับแบรนด์สมาร์ตโฟนต่าง ๆ นอกเหนือจากตลาดเจ้าเดิม อย่าง Snapdragon ของ Qualcomm และ Exynos ของ Samsung
ข้อมูลชิปเซตและการจำแนกชื่อรุ่น
- คู่แข่งในชิปเซตฝั่ง Android ของ Qualcomm เป็นแบรนด์ชิปเซตที่มาแรงที่สุดตั้งแต่มีการใช้งานคลื่น 5G มาเลยก็ได้นะ เพราะยอดการผลิตพุ่งขึ้นมาเทียบเท่าเผลอๆจะแซง Qualcomm ไปแล้วด้วย ส่วนนึงน่าจะเป็นเพราะ MediaTek จะทำราคาออกมาได้ดีกว่าด้วย แต่ความเชื่อในแบรนด์จนถึงปัจจุบัน ก็ดูจะยังสู้ทาง Qualcomm ยังไม่ได้มากนัก โดยเฉพาะด้านการเล่นเกม เหล่าเกมเมอร์ส่วนใหญ่จะเทใจไปให้ชิปเซต Qualcomm Snapdragon ไปสะหมด (นับแค่ Android นะ iOS ลื่นปรื๊ดๆอยู่แล้ว)
- การแบ่งรุ่นชิปเซตของ MediaTek จะดูง่ายกว่า Qualcomm พอสมควรเลยนะ โดยจะแบ่งเป็น MediaTek Helio (P Series เน้นใช้งานทั้วไป / G Series เน้นพัฒนาในด้านการเล่นเกม) จะเป็นชื่อรุ่นที่รองรับถึงแค่ 4G กับ MediaTek Dimensity จะเป็นรุ่นรองรับ 5G ทั้งหมด ส่วนรุ่นท็อปสุดในปีัจจุบัน ที่พึ่งเปิดตัวมาสดๆร้อนๆเลยคือ MediaTek Dimensity 9000 ซึ่งจะมีความเร็วแรงกว่าตัวท็อปรุ่นก่อนอย่าง Dimensity 1200 เยอะเลย แถมคะแนนนี่คือสูงมากจริงๆนะ แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีมือถือที่เปิดตัวมาพร้อมชิปเซตตัวนี้ เราเลยไม่รู้ว่าประสิทธิภาพการทำงานของชิปเซตตัวนี้จียอดเยี่ยมขนาดไหน
- ชิปเซต 4G ของ MediaTek จะมีมือถือที่ยังเลือกใช้งานอยู่เยอะเหมือนกัน รุ่นดังกล่าวก็จะมีทั้ง MediaTek Helio P35 , Helio G85 , Helio G96 ส่วนรุ่น 5G ก็มีเยอะมากเช่นกันที่ให้เลือกใช้งาน ไล่ไปตั้งแต่ Dimensity 810 , Dimensity 920 , Dimensity 1200 และรุ่นที่พึ่งเปิดตัวก็คือ Dimensity 9000 นั่นเอง

4. Samsung Exynos
ประวัติบริษัท
- บริษัท Samsung ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในวันที่ 1 มีนาคม 1938 โดยประธานผู้ก่อตั้งนามว่า เบือง ชุล ลี ได้เริ่มธุรกิจที่เมืองแตกู ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยเงินเพียง 30,000 วอน และในช่วงแรกของการทำธุรกิจนั้นเน้นที่การส่งออกสินค้า
- ปี 1960 บริษัท Samsung ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เต็มตัว โดยบริษัทแบ่งแผนกไว้ทั้งหมด 4 แผนก ดังนี้ แผนกอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์, แผนกกลศาสตร์ไฟฟ้า, แผนกซัมซุงคอร์นนิ่ง และแผนกซัมซุงเซมิคอนดักเตอร์และโทรคมนาคม และหลังจากนั้นทางบริษัท Samsung จึงได้เริ่มต้นการผลิตโทรทัศน์ขาวดำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
- ปี 2012 ทาง Samsung ได้แสดงศักยภาพได้อย่างเด่นชัดด้วยการเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของโลก โดยการสร้างโรงงานผลิตที่มีมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และโรงงานผลิตนั้นตั้งอยู่ที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีการพัฒนาชิปเซตเป็นของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า Exynos
ข้อมูลชิปเซตและการจำแนกชื่อรุ่น
- ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Samsung เองเลย ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าในช่วงหลังมานี้ มือถือ Samsung ที่เปิดตัวในไทย ส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนมาใช้ชิปเซต Qualcomm และ MediaTek กันหมดแล้ว
- แต่ก็ยังมีรุ่นท็อปตัวก่อนอย่าง Samsung Galaxy S21 ที่ยังเลือกใช้ชิปเซต Exynos 2100 อยู่ ซึ่งผลคะแนนที่ได้รับก็ดทียบเท่า Snapdragon 888 เลยนะ แต่พอรุ่นมือถือจอพับทั้ง Z Flip และ Z Fold ก็ต่างเลือกใช้ชิปเซตของ Qualcomm ด้วยกันทั้งคู่ ส่วน Samsung Galaxy S22 Series ก็ดูเหมือนจะใช้ชิปเซตรุ่นใหม่อย่าง Snapdragon 898 เช่นกัน
- ชิปเซตรุ่นที่รองรับ 5G ของ Samsung ก็จะมี Exynos 990 , Exynos 1080 , Exynos 2100

5. HiSilicon Kirin
ประวัติบริษัท
- Huawei เป็นบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1987 โดยนาย Ren Zhengfei
- หลังจากทำธุรกิจผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมได้ระยะหนึ่ง Huawei ก็ได้เริ่มเปิดแผนก Handset Division ขึ้นเมื่อปี 2003 และในปี 2004 ก็ได้ผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกที่เป็นฟีเจอร์โฟนออกมา ในปี 2004 นอกจากจะเป็นปีที่ Huawei ได้ผลิตโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกออกสู่ตลาดแล้ว ยังเป็นปีที่ Huawei ได้ก่อตั้งบริษัท HiSilicon ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ออกแบบชิ้นส่วน และชิปประมวลผล สำหรับตลาดคอนซูมเมอร์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
- จวบจนกระทั่ง นาย Richard Yu เข้ามาเป็น CEO ของ Huawei เมื่อปี 2011 ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป บริษัท HiSilicon เริ่มหันมาออกแบบชิบประมวลผลแบบ SoC สำหรับโทรศัพท์มือถือ เหตุผลที่ทำเช่นนี้ก็คือ การออกแบบให้ชิปสามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ จะช่วยให้สมาร์ทโฟนของ Huawei แตกต่างไปจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ในประเทศจีน
- จนกระทั่งปี 2014 ก็ได้มีการเปิดตัวชิป Kirin 910 ออกมาเป็นรุ่นแรกในตระกูล และถูกนำไปใช้เป็นหน่วยประมวลผลของสมาร์ทโฟนรุ่น P6 S และ Ascend P7 รวมถึงแท็บเล็ต MediaPad ของ Huawei เอง
ข้อมูลชิปเซตและการจำแนกชื่อรุ่น
- ณ ช่วงเวลาหนึ่ง Kirin ถือเป็นชิปเซตที่มีความแรง และเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากจริงๆ ซึ่งจะถูกใช้กับมือถือแบรนด์ Huawei และ Honor เป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน เราแทบไม่เห็นชิปเซตดังกล่าวแล้ว เนื่องด้วยปัญหาการโดนแบนของ Huawei เองนี่แหละ ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายจริงๆ เพราะถ้า Huawei ไม่โดนลงโทษ ไม่รู้ว่าป่านนี้ชิปเซต Kirin อาจพัฒนาจนครองอันดับหนึ่งในแบรนด์ชิปเซต 5G ของ Android แล้วก็เป็นได้
- ชิปเซตตัวท็อปของ Kirin จะเป็น Kirin 9000 ที่มีความแรงประมาณ Snapdragon 870 เลย ซึ่งถูกปล่อยออกมาเมื่อปีที่แล้วนี่เอง โดยถูกใส่ไว้ใน Huawei Mate 40 Pro, Mate X2 และ P50 Pro

6. Unisoc
ประวัติบริษัท
- UNISOC เป็นบริษัทสัญชาติจีนผู้ผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์แบบ fabless แต่เดิมมีชื่อว่า Spreadtrum Communications, Inc. โดยเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการสื่อสารในฐานะผู้ผลิตชิปสำหรับโทรศัพท์มือถือในระบบ GSM ปัจจุบัน UNISOC เป็นผู้พัฒนาชิปเซ็ตเพื่อรองรับการใช้งานด้านการสื่อสารเคลื่อนที่และ IoT โดยรองรับมาตรฐานการสื่อสารครบถ้วนทั้ง 2G/3G/4G/5G ไปจนถึงโซลูชันชิปเซ็ตในด้าน IoT, RFFE, การเชื่อมต่อไร้สาย, AIoT และ TV ด้วย
ข้อมูลชิปเซตและการจำแนกชื่อรุ่น
- ในช่วงปี 2021 มานี้ เชื่อว่าหลายๆคนคงได้ยินชื่อชิปเซต Unisoc กันมาบ้างแน่นอน โดยเรามักจะได้ยินชื่อของ Unisoc ในมือถือราคาประหยัดจากหลากหลายแบรนด์เลย ซึ่งไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมามีรายงานว่า Unisoc มีการส่งออกชิปเซ็ตมากกว่าเดิมถึง 147 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในแง่ของชื่อเสียง แน่นอนว่า ณ ปัจจุบันยังสู้กับ Qualcomm และ MediaTek ไม่ได้ แต่ในด้านบริษัท Tsinghua Unigroup รับรองว่ามีพร้อมทั้งเงินทุน และทรัพยากรในการพัฒนาชิปในอนาคตอย่างแน่นอน
- ถึงแม้ว่าในตอนนี้ ชิปเซต Unisoc จะถูกใช้งานในมือถือราคาประหยัดเท่านั้น แต่จริงๆทางแบรนด์ก็มีการผลิตชิปเซต 5G ออกมาแล้วเช่นกันนะ โดยมีชื่อว่า UNISOC T770, UNISOC T740 และ UNISOC T760 แต่ยังไม่ถูกมาใช้ในมือถือเครื่องไหนเลย ซึ่งหากทาง Unisoc นำออกมาเข้าสู้ในตลาดชิปเซต 5G เมื่อไหร่ รับรองว่าเป็นคู่แข่งที่สูสีกับ Qualcomm และ MediaTek ได้ไม่ยากเลย